3 เทคนิคการเขียนนิยายออนไลน์ให้น่าติดตามโดยไม่ต้องตัดจบดื้อ ๆ
สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ที่อยากแสดงฝีมือการเขียนและไอเดียใหม่ ๆ ในโลกของนิยายออนไลน์ รู้หรือไม่? นอกจากจะสร้างเรื่องราวและพัฒนาพล็อตให้น่าสนใจเพื่อสร้างความแตกต่างแล้ว “เทคนิคการเล่าเรื่อง” ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะอย่าลืมว่าต่อให้เส้นเรื่องและตัวละครทั้งหมดจะมีประเด็นที่น่าติดตามมากแค่ไหน แต่หากเล่าเรื่องได้ไม่น่าสนใจ ผู้อ่านนิยายหลาย ๆ คนก็อาจไม่เข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อจนเลิกติดตามงานของเราไปเลยก็เป็นได้
แล้วจะทำอย่างไรให้เล่าเรื่องได้สนุกและน่าติดตาม โดยไม่ต้องตัดจบกลางคันให้คนอ่านรู้สึกอยากปาหมอน หรือรู้สึกว่างานของเรา “เฝือ” เพราะเล่นแต่มุขตัดจบแบบเดิม ๆ หากใครอยากรู้ล่ะก็ ลองมาทำความรู้จักกับ 3 เทคนิคการเขียนนิยายที่นำมาฝากในวันนี้กัน!
เทคนิคที่ 1: สร้างพล็อตสลับ Universe แต่มีเรื่องราวที่ซ้อนกัน
การสร้างจักรวาล หรือ Universe ให้กับนิยายอาจเป็นเทคนิคที่ใครหลายคนเลือกใช้ และพบเห็นได้บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น Marvel Comics หรือจะเป็นนิยายไทยยอดฮิตอย่างทวิภพ รวมไปถึงบุพเพสันนิวาสที่โด่งดัง
แต่อย่างไรก็ตาม หากลองสังเกตดี ๆ ก็จะพบว่า นิยายส่วนใหญ่ที่สร้างพล็อตข้ามภพ หรือมีจักรวาลคู่ขนานกัน ส่วนใหญ่จะใช้ตัวละครเพียง 1 ตัว หรือ ของสำคัญบางชิ้นในการเชื่อมจักรวาลทั้งหมดเข้าด้วยกัน แต่จะมีนิยายน้อยเล่มมาก ๆ ที่จะขยายและสร้างความซับซ้อนให้กับผู้อ่านได้จนรู้สึกน่าติดตาม
ด้วยเหตุนี้ นักเขียนนิยายออนไลน์มือใหม่ทุกคนอาจนำไอเดียนี้ไปปรับใช้โดยการลองสร้างเส้นเรื่องที่มีหลายจักรวาลดู จากนั้นค่อย ๆ หาจุดเชื่อมโยงอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากตัวละคร สิ่งของ หรือ Easter Eggs ซึ่งอาจจะเป็น “ไอเดีย” “กระแสความคิด” หรืออาจลองสร้างเส้นเรื่องเป็น “ประวัติศาสตร์คู่ขนาน” ก็น่าสนใจไปอีกแบบ
กวีบุ๊คบอกต่อ! ก่อนจะเริ่มลงมือเขียนทุกครั้ง อย่าลืมเช็กเส้นเรื่องของทุกจักรวาลให้ดี พร้อมวางจุดเริ่มต้นและจุดจบเอาไว้เพื่อป้องกันการเขียนออกทะเล จนทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่เข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อและเลิกอ่านในที่สุด |
เทคนิคที่ 2: ลองใช้ Stream of Consciousness เล่าเรื่องได้
สำหรับใครที่เป็นแฟน ๆ วรรณกรรมตะวันตกมาอย่างยาวนาน มั่นใจได้เลยว่า “Stream of Consciousness” ย่อมเป็นอีกหนึ่งวิธีการเขียนนิยายที่เคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง แต่สำหรับใครที่ไม่ใช่สายวรรณตะวันตกเลย ลองมาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าว่าเทคนิคการเขียนนิยายแบบนี้คืออะไรกันแน่
โดย Stream of Consciousness หรือ การเขียนด้วยกระแสสำนึก เป็นวิธีการเขียนที่เราจะเข้าไปนั่งอยู่ในหัวของตัวละครเพื่อถ่ายทอด “ความคิด” และเรื่องราวต่าง ๆ ออกมา ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่ต้องอธิบายและเล่าความคิดของคน ๆ หนึ่งขึ้นมา แน่นอนว่าความคิดและเรื่องราวต่าง ๆ ในหัวก็จะไหลออกมาเรื่อย ๆ ราวกับกระแสของสายธาร (Stream) ที่ไม่หยุดนิ่ง นอกจากนี้ นักเขียนหลาย ๆ คนยังเชื่ออีกว่า การเขียนแบบ Stream of Consciousness ยังสามารถช่วยสะท้อนความจริงที่อยู่ในใจ ตลอดจนเรื่องราวที่ส่งผลต่อความคิดและสภาพจิตใจของเราด้วย
หากใครเป็นคอวรรณกรรมตะวันตก หรือต้องการศึกษาการเขียนนิยายออนไลน์ของตัวเองด้วยสไตล์การเขียนนี้เพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปอ่านงานของ Virginia Woolf, William Faulkner, James Joyce รวมไปถึงนักเขียนในยุคโมเดิร์นคนอื่น ๆ ได้เช่นกัน
กวีบุ๊คบอกต่อ! จริงอยู่ว่าการเขียนแบบ Stream of Consciousness จะเป็นการเล่าความคิดของตัวละครไปเรื่อย ๆ เพื่อสะท้อนอะไรบางอย่าง แต่หากไม่ประคองความคิดของตัวเองในขณะที่เขียน รวมถึงสร้างเส้นเรื่องให้ไปถึงตอนจบที่ต้องการได้ อาจทำให้ตัวนิยายยาวมากจนรู้สึกน่าเบื่อ และอาจทำให้ผู้อ่านนิยายเลิกติดตามงานของเราไปได้ง่าย ๆ |
เทคนิคที่ 3: เปิดประเด็นและทิ้งความสงสัยเอาไว้
ไม่เพียงแต่การสร้าง Universe จะช่วยสร้างความซับซ้อนของพล็อต ตลอดจนเข้าไปนั่งในหัวของตัวละครเพื่อถ่ายทอดความคิดและความจริงบางอย่าง รู้หรือไม่? การสร้างประเด็นและทิ้งความสงสัยเอาไว้ในช่วงท้ายของแต่ละตอน ก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคการเขียนนิยายที่ช่วยทำให้ผู้อ่านรู้สึกอยากติดตามงานของเราต่อได้เช่นกัน
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ นักเขียนหลาย ๆ คนคงอาจสงสัยว่า การทิ้งความสงสัยนี้จะแตกต่างจากการตัดตอนอย่างไร คำตอบ คือ การเขียนในลักษณะนี้จะไม่ทำให้รู้สึก “อารมณ์ค้าง” จนทำให้รู้สึกอยากปาหมอน แต่จะเน้นไปที่การสร้างปมเพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านอยากเข้ามาหาคำตอบ รวมลุ้น และทายเรื่องราวที่อาจเกิดขึ้น ช่วยทำให้ผู้อ่านเกิดความต้องการเข้ามามีส่วนร่วมกับนิยายของเรามากขึ้น ซึ่งถึงจะสร้างปมต่าง ๆ เอาไว้ ตลอดจนปูทางเนื้อเรื่องที่ผู้อ่านสามารถคาดเดาได้ แต่นักเขียนอย่างเรา ๆ ก็ยังสามารถเซอร์ไพรส์ผู้อ่านในตอนต่อไปได้เรื่อย ๆ เช่นเดียวกับที่มังงะอย่าง Attack on Titan ชอบทำ แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะอยากเซอร์ไพรส์ผู้อ่านมากแค่ไหนก็อย่าลืมพล็อตหลักที่วางไว้ตั้งแต่ต้นด้วย ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เนื้อเรื่องหลุดและลอยออกทะเลจนทำให้ผู้อ่านผิดหวังไปเลยก็ได้
เป็นอย่างไรบ้างกับ 3 เทคนิคการเขียนนิยายออนไลน์ที่นำมาฝาก บอกเลยว่าฝึกง่าย นำไปปรับใช้ได้ไม่ยาก แถมยังช่วยพัฒนาฝีมือและการจัดลำดับความคิดของการสร้างพล็อตได้อีกด้วย แต่สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าจะปรับใช้ทั้ง 3 เทคนิคให้เข้ากับผลงานของตัวเองอย่างไร ที่กวีบุ๊คก็มาพร้อมกับนิยายหลากหลายพล็อต ที่มีเรื่องราวน่าติดตามมากมาย เพื่อให้ทุกคนได้หาแรงบันดาลใจ และสร้างตัวตนใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยทุกคนสามารถเข้ามาอ่านนิยายฟรีก่อนได้ตามตอนที่กำหนด และหากชื่นชอบผลงานของใครก็ค่อยตัดสินใจซื้อทีหลังได้ แถมเมื่อพัฒนาฝีมือได้เต็มที่แล้วก็ยังสามารถนำนิยายของตัวเองมาลงให้ทุกคนได้อ่านเช่นกัน สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ contact@kawebook.com
userA???
???? ??? ? ???? ?? ??