รู้จัก “องครักษ์เสื้อแพร” ผ่านนิยาย Y รัชศกเฉิงฮว่าปีที่ 14
ช่วงนี้กระแสนิยายวายมาแรงมาก ๆ โดยเฉพาะนิยายวายจากฝั่งจีนและไต้หวันที่นำมาสร้างเป็นอนิเมะและซีรีส์ยอดวิวถล่มทลาย ซึ่งก็ต้องยกความดีความชอบให้กับเหล่านักเขียนคนเก่งที่สรรค์สร้างเรื่องราวอันน่าประทับใจให้นักอ่านและผู้สร้างได้นำไปขยายเป็นภาพเคลื่อนไหว ที่ไม่ได้มีแต่ความจิ้นสุดฟินของพระเอกและนายเอกเท่านั้น แต่ยังได้หยิบยกประเด็นและปัญหา รวมถึงเงื่อนงำที่ตัวละครต้องคลี่คลาย ขึ้นมาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก แล้วปูความสัมพันธ์ของตัวละครเอาไว้เป็นน้ำจิ้มเติมรสชาติ ทำให้นิยายวายบางเรื่องสามารถเข้าถึงคนอ่านได้หลากหลายกลุ่มมากกว่าที่คิด
อย่างเรื่อง “รัชศกเฉิงฮว่าปีที่ 14” นิยาย Y จากปลายปากกาของ “เมิ่งซีสือ” ที่กวีบุ๊คขอยกมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้ เป็นนิยายแนวสืบสวนสอบสวนที่สอดแทรกประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในสมัยราชวงศ์หมิงได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะเรื่องราวของ “องครักษ์เสื้อแพร” อาชีพขุนนางยอดฮิตของตัวเอกในนิยาย ที่มีบทบาทในการเมืองการปกครองจริง ๆ และเพื่อให้เห็นถึงแก่นแท้ของตัวละครได้อย่างมีอรรถรส เราลองไปทำความรู้จักกับองครักษ์เสื้อแพรผ่านบทบาทของตัวละคร “สุยโจว” กัน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และทำไมจึงเป็นบทบาทสำคัญของนิยายวายเล่มนี้
รู้จัก “องครักษ์เสื้อแพร”
องครักษ์เสื้อแพรเป็นหน่วยสืบราชการลับที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง ช่วงประมาณ ค.ศ. 1368 - 1369 สมัยจักรพรรดิหงหวู่ ใครอ่านนิยายบ่อย ๆ คงพอจะเดาออกแล้วว่า หากในวังมีขุนนางฝ่ายทหารและพลเรือนแล้ว จักรพรรดิก็คงต้องมีกองกำลังและหูตาที่ขึ้นตรงกับตัวเองโดยตรงด้วย เพื่อตรวจสอบเหล่าขุนนาง คอยอารักขาขบวนเสด็จ และคานอำนาจกับทั้งสองฝ่าย เพื่อลดความเสี่ยงในการก่อกบฏโค่นล้มราชบัลลังก์
ถ้าใครได้อ่านเรื่องรัชศกเฉิงฮว่าปีที่ 14 จะเห็นว่าหน้าที่ของสุยโจวในเรื่องนั้นนอกจากจะต้องดูแลความปลอดภัยของจักรพรรดิแล้ว ยังมีหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการสืบและคลี่คลายคดี จับตัวคนผิดมาสอบสวนและลงโทษ ซึ่งมักจะได้รับมอบหมายให้ทำคดีสำคัญ ๆ หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับขุนนางใหญ่และพระญาติ โดยหน่วยงานองครักษ์เสื้อแพรรุ่งเรืองและมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักหมื่นในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1385 ก่อนจะถูกยุบไปในปี ค.ศ. 1644 หลังจากเหตุการณ์กบฏชาวนาและการโค่นล้มราชวงศ์หมิง
เทียบฐานะองครักษ์เสื้อแพรกับขุนนางในชั้นยศเดียวกัน
ในนิยาย Y เรื่องรัชศกเฉิงฮว่าปีที่ 14 เพื่อน ๆ น่าจะได้เห็นบทบรรยายหลายตอนเลยที่ “ถังฟั่น” ตัวละครเอกอีกคนในเรื่องเอ่ยถึงลำดับชั้นยศโดยเปรียบเทียบลำดับของตัวเองกับขุนนางคนอื่น ๆ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุยโจวที่เป็นองครักษ์เสื้อแพรในกองปราบฝ่ายเหนือนั้น เขากล่าวเอาไว้ว่า ถึงแม้ลำดับขั้นของสุยโจว เมื่อเทียบกับขุนนางฝ่ายทหารและพลเรือนคนอื่น ๆ จะดูไม่สูงมาก แต่ด้วยความที่สังกัดหน่วยงานดังกล่าว จึงทำให้เขาดูมีภาษีและเป็นที่เคารพยำเกรงของทุกคนที่พบเห็น เรียกได้ว่า แค่ใส่เครื่องแบบไปเดินตลาด คนก็กลัวแล้ว
องครักษ์เสื้อแพร VS. ขันทีสำนักประจิม
หลังจากที่ตั้งหน่วยงานองครักษ์เสื้อแพรขึ้นมาแล้ว ในปี ค.ศ. 1447 ก็ได้เกิดหน่วยงานใหม่เพื่อคานอำนาจเพิ่มเติม รวมถึงทำหน้าที่คอยตรวจสอบการทำงานขององครักษ์เสื้อแพรต่าง ๆ อีกทอดหนึ่ง ซึ่งก็คือ “สำนักประจิม” ซึ่งในหน่วยงานนี้มีแต่ขันทีที่มีวิทยายุทธเป็นเลิศ และร่างกายกำยำ สามารถคุ้มครองความปลอดภัยทั้งในวังหลวง วังหลัง และยังออกไปทำคดีนอกวังได้สะดวก อย่างในนิยาย Y เรื่องนี้ เราก็จะเห็นขันทีวังจื๋อ ผู้บัญชาการสำนักประจิมที่ไม่ค่อยถูกกับหน่วยงานของสุยโจวและสำนักบูรพาเท่าไหร่นัก
ทำไมต้อง “เสื้อแพร” ?
สาเหตุที่เรียกองครักษ์เสื้อแพรนั้น เพราะนายทหารทุกนายจะสวมเครื่องแบบที่ทำจากผ้าแพรดูเรียบร้อยสวยงาม แตกต่างจากเครื่องแบบของขุนนางกรมกองอื่น ๆ อาวุธประจำตัวจะพกดาบซิ่วชุนและถือกระบองหลวง ถึงแม้เครื่องแบบจะดูสวยงาม แต่กลับขึ้นชื่อเรื่องวิธีการทรมานนักโทษที่โหดเหี้ยมและเลือดเย็น ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นไปเพื่อปราบขุนนางฉ้อฉลและสร้างความมั่นคงให้ประเทศนั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่ยังไม่เคยอ่าน รัชศกเฉิงฮว่าปีที่ 14 ต้องลองอ่านกันสักเล่มแล้วแหละ เพราะเป็นนิยายวายที่ไม่ใช่สายวายก็อ่านได้เหมือนกัน รับรองว่าครบรสเกร็ดประวัติศาสตร์ในยุคราชวงศ์หมิง ลุ้นระทึกกับการไขปริศนาในคดีต่าง ๆ และอมยิ้มไปกับความน่ารักเอาใจใส่ของคนพูดน้อยอย่างสุยโจวกับคนช่างพูดแบบถังฟั่น พร้อมให้เพื่อน ๆ ทดลองอ่านได้แล้ววันนี้ที่หมวดนิยาย Y ของกวีบุ๊คเลย
userA???
???? ??? ? ???? ?? ??