0.00
0.00
0
ผลงานที่ติดตาม ผลงานที่ดูล่าสุด ผลงานที่ให้กำลังใจ จัดการงานเขียน อีบุ๊คของฉัน ถอนอั่งเปา ตั้งค่า
BLOG
นิยายสำหรับเด็กคืออะไร

ชวนคิด! ผู้อ่านต้อง ‘เด็ก’ แค่ไหนถึงจะอ่าน ‘นิยายเด็ก’ ได้

        สมัยก่อนเวลาไปเดินเล่นตามร้านหนังสือ หลาย ๆ คนอาจเคยเห็นป้ายชั้นนิยายสำหรับเด็กมาไม่มากก็น้อย หรือแม้แต่ในสมัยนี้ การอ่านนิยายออนไลน์บางแห่งอาจมีป้ายติดเพื่อจำกัดอายุในการอ่าน แต่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน เพื่อน ๆ เคยสงสัยไหม? เราต้องเด็กแค่ไหนถึงจะอ่านนิยายเด็กหรือเยาวชนได้ เพราะในบางครั้ง เนื้อหาทั้งใน Children’s Literature หรือแม้แต่ Young Adult Literature เองต่างก็มีเนื้อหารุนแรงและซับซ้อนเกินกว่าที่เด็กจะเข้าใจได้ หากใครกำลังสงสัยแบบเดียวกันอยู่ เดี๋ยววันนี้กวีบุ๊คจะเล่าให้ฟัง


ชวนคุยเรื่องการจำกัดความของคำว่า ‘เด็ก’ กันก่อน


        การจะเขียนนิยายขึ้นมาสักเล่ม ไม่เพียงแต่จะต้องพิจารณาจากเนื้อหาเท่านั้น แต่ยังต้องทำความเข้าใจถึงผู้รับสารอย่างผู้อ่านอีกด้วย ซึ่งเมื่อพูดถึงเด็กแล้ว คนจำนวนไม่น้อยต่างให้คำจำกัดความอยู่ที่ว่า ‘เด็ก’ เป็นผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทางโลกมากนัก และต้องการคำชี้แนะจากผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์และ “เห็นโลก” มามากกว่า

         ด้วยแนวคิดนี้เอง สำหรับการเขียนนิยายหรือหนังสือสำหรับเด็กขึ้นมานั้น นอกจากเรื่องความสนุก ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการที่ไร้ขอบเขตแล้ว ในอีกแง่มุมหนึ่งนิยายหรือหนังสือสำหรับเด็กแล้วอาจได้รับการแต่งมาเพื่อเป็น ‘แนวทาง’ ให้เด็กปฏิบัติตามค่านิยมที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคก็เป็นได้  เช่น ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 มีการเริ่ม Sunday School Movement เพื่อเป็นการสอนหนังสือและคำสอนของศาสนาคริสต์ให้แก่เด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นชนชั้นแรงงาน ซึ่งในช่วงเวลานี้ก็ได้เริ่มมีการแต่งหนังสือสำหรับเด็กออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อให้เด็กเข้าใจในคำสอนและเชื่อฟังได้ง่ายและต่อมาในยุควิกตอเรียนของอังกฤษก็ได้มีหนังสือสำหรับเด็กออกมา เพื่อให้ทั้งความสนุกเพลิดเพลินผ่านการผจญภัยอย่าง Treasure Island ที่ถึงจะซ่อนประเด็นทางสังคมและค่านิยมของยุคดังกล่าวเอาไว้มากมาย และสามารถตีความได้อย่างไร้ขีดจำกัดเมื่อกลับมาอ่านอีกครั้งในคราวที่อายุมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สำหรับสายตาที่ไร้เดียงสาของเด็กแล้ว นิยายเหล่านี้เต็มไปด้วยสีสันและสนุกไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว


        ด้วยเหตุนี้ จึงอาจสรุปได้คร่าว ๆ ว่า “นิยายสำหรับเด็ก” นั้นจึงเป็นนิยายที่ทั้งสอนแนวทางการปฏิบัติที่เด็กควรทำตามค่านิยมของสังคมในยุคที่ถูกแต่งขึ้น อีกทั้งยังมอบความสนุกให้แก่เด็กที่อาจจะยังไม่มีประสบการณ์ทางโลกมากนัก ซึ่งถึงแม้ว่าเรื่องราวจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเวลาผ่านไป วิธีการอ่าน ทำความเข้าใจ และประสบการณ์จะทำให้นักอ่านนิยายหลายคนเปลี่ยนมุมมองและมีการตีความแบบใหม่ขึ้นมาได้ และทำให้นิยายที่ว่าเด็กอาจกลายเป็นเรื่องไม่เด็กอีกต่อไปก็เป็นได้


ทำไมนิยายสำหรับเด็กถึงมีความรุนแรงได้?


        ถึงความรุนแรงในนิยายจะถูกพูดถึง นำมาตีความได้หลากหลายรูปแบบ และสามารถสร้างความสนุกน่าติดตามให้แก่ผู้อ่านนิยายได้ แต่หนึ่งปัจจัยที่ทำให้มีพล็อตหรือตัวละครที่รุนแรงในนิยายเด็กได้นั้น อาจมาจากความต้องการสอนเด็กก็เป็นได้ เพราะเมื่อย้อนไปเป็นเด็ก เรามักจะถูกสอนว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ รวมไปถึงอะไรเป็นสิ่งดีและแบบไหนถึงเป็นสิ่งแย่ ซึ่งท่ามกลางพื้นที่ที่แบ่งขาวและดำออกจากกันชัดเจนนี้ ความรุนแรงที่อยู่ในหนังสือก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ทำให้เด็กแบ่งแยกตัวละครที่ดีและไม่ดีออกจากกันได้ อีกทั้งยังทำให้เด็กเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า หากตัวละครทำดีแล้วจะได้อะไร หรือผู้ร้ายใช้ความรุนแรงเมื่อไหร่ก็จะได้บทลงโทษ


     อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กน้อยนักอ่านหลายคนเติบโตขึ้นมาก็จะพบว่า สุดท้ายแล้ว พื้นที่ของโลกนี้ไม่ได้มีเพียงแค่สีขาวหรือดำ แต่ยังมีพื้นที่สีเทาอ่อนและเทาเข้มให้ได้เรียนรู้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ความรุนแรงของตัวละครทั้ง 2 ฝ่ายนี้จะได้ก้าวกระโดดจากหนังสือเด็กไปสู่นิยายเยาวชน หรือ Young Adult Literature เพื่อให้นักอ่านทุกคนได้เติบโตและทำความเข้าใจความซับซ้อนของโลกต่อไปนั่นเอง


แนะนำคลังนิยายเด็กสุดคลาสสิกที่เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี


 หากนักอ่านนิยายคนไหนเริ่มอยากกลับไปเพลิดเพลินกับโลกวัยเด็กอีกครั้ง วันนี้กวีบุ๊คจะขอพาทุกคนไปรู้จักกับ 3 หนังสือเด็กสุดคลาสสิกที่ไม่ว่าใครก็อ่านได้ แถมสนุกด้วย! 


Alice in Wonderland

        เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงอลิสที่ออกเดินทางไปยังดินแดนมหัศจรรย์ในโพรงกระต่าย ซึ่งในดินแดนนี้เธอพบเจอกับเรื่องสุดหรรษา และการผจญภัยที่ทั้งสนุก ตื่นเต้น และเต็มไปด้วยเรื่องสุดแสนอันตราย ซึ่งหนังสือสุดคลาสสิกเล่มนี้ได้รับการการันตีจากผู้อ่านทุกคนว่า ทุกความรู้สึกและความหมายจะเปลี่ยนไปทุกครั้งเมื่อได้อ่าน หากใครอยากได้ความสนุกใหม่ ๆ และการตีความที่ไม่ซ้ำกัน บอกเลยว่า Alice in Wonderland ถือเป็นหนังสืออีกเล่มที่ไม่ควรพลาด


 Roald Dahl's Series

        Roald Dahl's Series เป็นเซตนิยายสำหรับเด็ก 16 เล่ม ซึ่งหากใครนึกภาพไม่ออกล่ะก็ Roald Dahl นั้นเขียนหนังสืออย่าง Charlie and the Chocolate Factory, Matilda รวมถึง The BFG ที่ได้นำมาสร้างเป็นอนิเมชันในดวงใจของใครหลายคน โดยนอกจากเรื่องราวเหล่านี้ หนังสือแต่ละเล่มก็จะมีทั้งเรื่องราวของมิตรภาพ ความตื่นเต้น เรื่องสยอง ไปจนถึงเรื่องอลเวงมากมาย ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเซตหนังสือที่สนุกจนวางไม่ลงเลยทีเดียว


Tom's Midnight Garden

        Tom's Midnight Garden อาจเป็นหนังสือเด็กที่นักอ่านนิยายชาวไทยไม่ค่อยคุ้นมากนัก แต่หากลองได้อ่านสักครั้งจะพบว่าสนุกไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว โดย Tom's Midnight Garden ได้บอกเล่าเรื่องราวของ “ทอม” เด็กชายที่ต้องมาอาศัยอยู่ร่วมกับลุงและป้าที่ไม่มีสวนและต้นไม้ให้ได้เล่นเหมือนเช่นเคย แต่แล้วเมื่อตอนเที่ยงคืน ด้านหลังแฟลตของลุงและป้าก็จะเปลี่ยนไปเป็นสวนที่ปรากฏออกมาให้เห็นเฉพาะตอนเที่ยงคืนเท่านั้น หากใครอยากลุ้นระทึกไปกับการผจญภัยของทอมล่ะก็ อย่าพลาดเรื่องนี้เป็นอันขาด


         เพียงเท่านี้ หลายคนก็ได้คลายความสงสัยของนิยายเด็กกันไปได้บ้างแล้ว และสำหรับใครที่ยังอารมณ์ค้าง และอยากอ่านนิยายออนไลน์ไปก่อนที่จะไปลุยอ่านหนังสือทั้ง 3 เล่มที่นำมาฝากนี้ ที่กวีบุ๊คก็มาพร้อมกับนิยายและการ์ตูนใหม่ ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็อ่านได้ไม่รู้จักเบื่อ


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา